วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Je t'aime... moi non plus เพลงรักต้องห้าม?

บางครั้ง เราอาจพบว่าจู่ ๆ ก็มีทำนองเพลงอะไรบางอย่างโผล่ขึ้นมาในความทรงจำ หรือได้ยินได้ฟังทำนองเพลงอะไรสักเพลง แต่นึกไม่ออกว่าเป็นเพลงอะไร เคยฟังที่ไหน  เพลงหนึ่งที่เข้ามาวนเวียนอยู่ในสมองผมหลังจากฝึกเล่นเปียโนได้ระยะหนึ่ง  แต่นึกไม่ออกว่าเพลงชื่ออะไร ได้ฟังที่ไหน คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นทำนองเพลงโฆษณาสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่ง  จะหาข้อมูลหรือถามใครก็ไม่รู้จะเริ่นต้นยังไง  จนกระทั่งเมื่อคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 จึงได้ทราบคำตอบจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง

เพลงนั้นชื่อว่า Je t'aime... moi non plus ซึ่งมีความเป็นมาปรากฏตามลิ้งค์ภาษาอังกฤษและไทยดังนี้
ที่ว่าเป็น "เพลงรักต้องห้าม" นั้นด้วยเหตุตามที่ระบุในบทความวิกิพีเดียภาษาไทยว่า "แต่เพลงนี้ถูกห้ามเปิดออกอากาศในหลายประเทศ ทั้งในสเปน สวีเดน บราซิล อังกฤษ โปรตุเกส อิตาลี ห้ามออกอากาศในฝรั่งเศสก่อนเวลา 23.00 น. และถูกจำกัดการออกอากาศในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในเพลงมีท่อนหนึ่งเป็นเสียงครางของนักร้องหญิง ขณะถึงจุดสุดยอด"  แต่หากสนใจแต่ทำนองเพลงโดยไม่สนใจประเด็นทางเพศแล้ว  เพลงนี้เป็นเพลงในคีย์ C อัตราจังหวะ 4/4 ที่ทำนองจริงยาวเพียง 16 ห้อง เล่นวนไปวนมา  ต้นฉบับหนึ่งที่พบใน Youtube คือคลิปนี้ครับ


ส่วนโน้ตเพลงที่พอหาได้ เป็นแบบ Lead Sheet จาก http://ekladata.com/rQDPJPmTLvdJAgTCfKW1wn3TMVc/Je-t-aime.pdf  ดังนี้ครับ



วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเพลงแบบ Lead Sheet เพลง "สดุดีจอมราชา"

สดุดีจอมราชา by Rojn Chintamas

วันนี้ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติคงจะมีพิธีการต่าง ๆ ที่ท้องสนามหลวง และเพลง "สดุดีจอมราชา" คงดังกระหึ่มไปทั่ว มาในวันนี้ปีนี้เราคงได้แต่น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้บ้างตามสมควร ทรงพระเจริญ!

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Lead Sheet เพลง "น้ำตาแสงไต้"

  น้ำตาแสงไต้ by Rojn Chintamas

โพสต์นี้คงหากินง่าย ๆ กับการเอาโน้ตเพลงที่เคยบันทึกไว้ที่ musescore.com มาแชร์ไว้หน่อย  "เพลงน้ำตาแสงไต้"  ที่ครูสง่า อารัมภีร ประพันธ์ทำนอง และประพันธ์คำร้องโดยตัวท่านเองร่วมกับครูมารุตและครูเนรมิต ขับร้องครั้งแรกโดย สุรสิทธิ์ สัตยาวงศ์ และยังมีผู้นำมาขับร้องต่อ ๆ มาอีกหลายท่านจนเอ่ยนามไม่หวาดไม่ไหว  เนื่องจากละคร "พันท้ายนรสิงห์" ยังคงมีผู้นำมาปัดฝุ่นเป็นละครและภาพยนตร์กันอยู่เนือง ๆ รวมถึงความไพเราะของบทเพลงเอง

ตามประวัติที่ระบุไว้ในบทความเรื่อง "เพลงผีบอก ที่มาของเพลง ”น้ำตาแสงไต้” " อ้างอิงไว้ในบทความเรื่อง "เพลงผีบอก! ครูสง่าเผย “น้ำตาแสงใต้” แต่งเพลงจบเพราะมีผีมาเล่นดนตรีให้ฟัง ที่มาขนหัวลุกของบทเพลงอมตะหวานปนเศร้า!" กล่าวว่ามี "ผี" (?) 3 ตนมาเล่นเปียโนให้ฟังจนเป็นแรงบันดาลใจให้แต่งเพลงสำเร็จ  ตามความเห็นของผม ถ้าลองเอาเพลงไทยเดิมมาเล่นเปียโนได้คงไม่ใช่ผีธรรมดา  น่าจะออกแนวเทพหรือคนธรรพ์อะไรไปนู่นเลยครับ

อีกประเด็นที่ขอกล่าวทิ้งท้ายไว้หน่อยคือโน้ตเพลงนี้ที่เผยแพร่กันในอินเทอร์เน็ตรวมทั้งโน้ตเพลงประกอบบทความที่กล่าวข้างต้นมักจะเขียนในคีย์ G Major  แต่เท่าที่ผมเทียบเสียงกับนักร้องบางท่านมันมักจะเป็นคีย์ F Major จึงได้บันทึกไว้ที่ musescore.com ไว้ในคีย์นี้  ไม่ว่ายังไงก็ต้องขอบคุณ musescore ที่ทำระบบให้สามารถ Transpose คีย์ได้  ท่านที่คุ้นกับระบบของเขาคงไม่ยากที่่จะเปลี่ยนคีย์ให้เข้ากับเสียงร้องหรือเครื่องดนตรีที่ท่านถนัด



วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Ukulele Beginner Lesson อูคูเลเล่บทเรียนแรกสำหรับมือใหม่

ตัวผมเองทุกวันนี้ก็ยังไม่ถือว่าเล่นอูคูเลเล่เป็น และยังไม่ได้เรียนกับครูคนไหนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  นอกจากเรื่องเงินกับเวลาแล้ว  เท่าที่สังเกตดูครูหลาย ๆ คนทั้งคนไทยและเมืองนอกจากใน Youtube และจากหนังสือ+แผ่นดีวีดี  พบว่าครูคนไทยบางคนก็เป็นแค่คนที่เล่นกีตาร์เป็นหลักแล้วมาทำสื่อการสอนอูคูเลเล่ และไม่ว่าคนไหนก็นิยมที่จะสอนเพลงใหม่ ๆ ตามกระแส  ขณะที่ครูฝรั่งเขาก็สอนเพลงของเขาที่เรามักจะไม่คุ้น   ถ้าลองข้ามเรื่องเพลงที่เราคุ้นไม่คุ้นไปก่อน  ลองดูลักษณะการสอนของแต่ละคนเปรียบเทียบกันไปมาแล้ว  ผมพอจะเห็นว่าครูเบอร์นาเด็ทคนนี้ดูพอจะมีหลักการที่ชัดเจนและใช้ได้จริงคนหนึ่ง  จึงขอนำคลิปการสอนอูคูเลเล่เบื้องต้นของเธอมาให้ลองชมกันซัก 2 คลิปครับ  คลิปบนความยาว 7 นาทีกว่า สอนเรื่องการถืออูคูเลเล่ล้วน ๆ  ส่วนคลิปข้างล่างสอนตั้งแต่การถืออูคูเลเล่ไปจนถึงการจับคอร์ดพื้นฐานทั้ง  4 คือ C, Am, F และ G7 และการสตรัมขึ้นลงแบบง่าย ๆ  ข้อสังเกตที่ขอเน้นสักนิดคือครูคนอื่นหลายคนทั้งไทยทั้งฝรั่งที่คงจะเล่นกีตาร์มาก่อนหรือเล่นกีตาร์เป็นหลักมักจะถืออูคูเลเล่โดยมือซ้ายกำรอบคอ  แล้วนิ้วหัวแม่มือซ้ายก็จะอยู่ข้าง ๆ คออูคูเลเล่  แต่ครุท่านนี้จะใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายแปะโป้งอยู่ที่ด้านหลังตรงกลางคออูคูเลเล่  ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนคอร์ดต่าง ๆ ไหลลื่นกว่าการกำมือซ้ายมาก  รายละเอียดดูได้จากในคลิปทั้งสอง  ที่แม้ภาษาอังกฤษของท่านจะไม่แข็งแรง  แต่คงพอดูท่าทางของคุณครูจากในคลิปได้ครับ  

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

คลิปสอนเปียโนเพลง "อิ่มอุ่น" กับรูปแบบการใช้มือซ้าย 3 แบบที่ใช้บ่อย ๆ

บอกไว้ก่อนนะครับว่าคลิปและภาพโน้ตที่จะนำเสนอในโพสต์นี้ไม่ใช่ของผมเองนะครับ  แต่เป็นของครูเบลล์ซึ่งเป็นเน็ตไอดอลด้านการสอนเปียโนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง  ผมเองกับครูเบลล์ไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นกันเป็นการส่วนตัว  แต่วิธีการที่ครูเขาสอนในคลิปนี้และคลิปอื่น ๆ ได้มีส่วนช่วยให้ผมเข้าใจการเล่นเปียโนแบบไม่ต้องเพ่งกับแผ่นโน้ตได้มากขึ้น  หากท่านได้ประโยชน์ใด ๆ จากคลิปนี้ยกให้เป็นความดีของครูเบลล์ไป  หากมีปัญหาใด ๆ ผมขอรับผิดชอบเองครับ

คลิปสอนการเล่นเปียโนเพลง "อิ่มอุ่น" โดย ครูเบลล์



โน้ตที่ใช้ประกอบการสอน



รูปแบบมือซ้ายที่คุณครูกล่าวถึงในตอนต้นคลิปมีดังนี้ครับ

1. แบบกด 3 ตัวโน้ตแล้วค้าง ซึ่งหลายคนที่เรียนมาพอสมควรคงรู้จักดีว่ามันคือการกดแบบ "1-5-8" นั่นเองครับ
ภาพตัวอย่างจากโน้ตเพลงห้องที่ 10 - 12 จะเห็นว่าในห้องแรกซึ่งใช้คอร์ด Am ทั้งห้อง  ครูเบลล์จะกด 1-5-8 เพียงชุดเดียวแล้วเงียบไปจนจบห้อง  แต่เราอาจจะกดเป็น 1-5-8-เงียบ 2 ชุด ก็แล้วแต่จะชอบ  ส่วนในห้องที่ 11 และ 12 นี่มีการเปลี่ยนคอร์ดกลางห้อง จึงต้องกดห้องละ 2 ชุดอยู่แล้ว  เพิ่มเติมจากที่ครูเบลล์สอนในคลิป คือ เมื่อเราชำนาญอาจเล่นเป็น 1-5-10 ก็ได้ครับ 

2. แบบย้ำ คือกด 1-5-8 แล้วย้ำ 5 กับ 8 ไปจนครบห้อง เป็น "1-5-8-5-8-5-8-5"
ภาพตัวอย่างจากโน้ตเพลงห้องที่ 14 และ 15 นอกจากการเล่นแบบ "1-5-8-5-8-5-8-5" แล้ว  เพิ่มเติมจากที่ครูเบลล์สอนในคลิป คือ เมื่อเราชำนาญอาจพลิกแพลงเป็น "1-5-8-5-10-5-8-5" หรือ "1-5-8-5-9-5-10-5" ก็ได้ครับ  ถ้าถามว่าเมื่อไหร่จะเล่นแค่ 1-5-8 ธรรมดา เมื่อไหร่จะย้ำแบบนี้   ก็ขึ้นอยู่กับการเดินเรื่องของเพลงครับ  เมื่อเพลงแค่เดินเรื่องไปเรื่อย ๆ ในตอนต้นก็จะเล่นแบบ 1-5-8 ไปจนถึงตอนที่ต้องเน้นย้ำอารมณ์ เช่นในท่อนฮุค จึงจะใช้การย้ำแบบนี้  ลองศึกษาจากในโน้ตเพลงได้ครับ

3. แบบ 1-5-8 แล้วหมุน หรือเขียนเต็ม ๆ คือ "1-5-8-9-10" แล้วหยุดมือซ้ายไปจนกว่าจะขึ้นห้องใหม่
ภาพตัวอย่างจากโน้ตเพลงห้องที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อมต่อระหว่างท่อน Intro กับเนื้อร้องท่อนแรก  มือซ้ายรูปแบบนี้มักจะนำมาใช้อุดช่องว่างระหว่างท่อนประมาณนี้ครับ

รายละเอียดนอกจากนี้ศึกษาได้จากในคลิปครับ  หรือตามไปที่สื่อของครูเบลล์โดยตรงดังนี้ครับ








วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Lead Sheet และ Ukulele Tab เพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่"

พรปีใหม่ by Rojn Chintamas

พูดถึงการจดบันทึกเพลง เราย่อมจะนึกถึงการบันทึกเป็นโน้ตสากลเป็นอันดับแรก  ซึ่งมีกฎเกณฑ์ในการเขียนการอ่านโน้ตที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและฝึกฝนกันพอสมควร  อันเป็นเหตุให้คนบางกลุ่มเลี่ยงที่จะไปใช้วิธีการบันทึกในแบบอื่น ๆ เช่น ในวงการคีย์บอร์ดเมืองไทยก็หันไปใช้โน้ตตัวเลข หรือในวงการกีตาร์และเครื่องสายลักษณะเดียวกันก็จะหันไปใช้แท็บ (Tab ย่อมาจาก Tablature) ซึ่งจะสื่อให้เห็นวิธีการเล่นเครื่องสายนั้น ๆ อย่างตรงไปตรงมาว่าจะต้องดีดที่สายไหน กดเฟร็ตที่เท่าไหร่  ในบทความนี้ก็จะขอแสดงตัวอย่างจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่เรารู้จักกันดี คือ "พรปีใหม่" แม้ในวันนี้จะยังห่างไกลจากเทศกาลปีใหม่อยู่มาก  แต่เพลงนี้เป็นเพลงในคีย์ C ที่ทำนองค่อนข้างจะคล้ายกับการไล่สเกลในคีย์นี้  จะยากหน่อยตรงเรื่องทางเดินคอร์ด  โดยข้างบนจะเป็นโน้ตแบบ Lead Sheet ที่แสดงแต่โน้ตในส่วนทำนองกับคอร์ด  ส่วนข้างล่างจะมีทั้ง Lead Sheet และ Tab สำหรับอูคูเลเล่  ซึ่งจะมีข้อจำกัดเล็กน้อยเนื่องจากอูคูเลเล่ที่ตั้งสายกันตามปกติ (High G) จะสามารถเล่นได้แต่โน้ตที่อยู่ตั้งแต่ Middle C ขึ้นไป  ทำให้เล่นโน้ตตอนท้ายเพลงไม่ได้อยู่โน้ตนึง  ผู้เล่นก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเอาเองหรือใช้อูคูเลเล่ที่ใช้สาย Low G ในการบรรเลง

พรปีใหม่ (Ukulele) by Rojn Chintamas

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เพลงคลาสสิคง่าย ๆ 3 เพลงสำหรับนักเปียโนมือใหม่

โพสต์นี้กลับมาเรื่องเปียโนสักนิดก่อนจะมีใครหาว่าจะทิ้งเปียโนอีก  คลิปนี้ถึงภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็น่าจะพอดูโน้ตดูมือคุณครูประกอบไปได้ เพลงคลาสสิคทั้ง 3 รวมถึงลิ้งก์สำหรับดาวน์โหลดโน้ตฟรีมีดังนี้ครับ

  1. “Für Elise” by Beethoven  https://d1923uyy6spedc.cloudfront.net/261104-resource-1593166266.pdf
  2. “Minuet in G Major” by Christian Petzold https://d1923uyy6spedc.cloudfront.net/230453-resource-1564755749.pdf
  3. “Gymnopédie No. 1” by Erik Satie https://d1923uyy6spedc.cloudfront.net/276439-resource-1608059919.pdf

การเล่นอูคูเลเล่ 3 แบบ

การเล่นอูคูเลเล่ 3 แบบ คลิปเก่าหลายปีแล้ว (ปัจจุบันครูสองคนนี้ยังสอนรึเปล่าไม่รู้ ที่บ้านอูคูเลเล่ตอนนี้น่าจะยังปิดร้านขายแต่ทางออนไลน์ตามยุคโควิด-19 เปิดสอนออนไลน์หรือเปล่าไม่รู้) เนื้อหาน่าจะยังคงตอบข้อสงสัยของมือใหม่และทบทวนความจำให้มือเก่าที่ยังไม่เก่งอย่างผมเองได้ 

  1. การเล่น Rhythm 
    1. Strumming การตีคอร์ดประกอบการร้องเพลง 
    2. Picking การเกาตามคอร์ดประกอบการร้องเพลง 
  2. การเล่นแบบ Solo เล่นเป็นโน้ตแทนเสียงร้อง เล่นยาวทั้งเพลง หรือเล่น Solo เฉพาะท่อน Intro, ท่อนระหว่างเนื้อร้อง และท่อนจบ
  3. การเล่นแบบ Finger Style เป็นการเล่นเพลงบรรเลงเต็มรูปแบบ ผู้ฝึกจะต้องผ่านการเล่นสองแบบแรกมาก่อน

โน้ตเปียโน เพลงประจำหน่วยรถถังเยอรมัน Panzerlied

Panzerlied by Rojn Chintamas

เพลงนี้คนรุ่นเก่าน่าจะรู้จักในฐานะที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Battle of the Bulge หรือในชื่อภาษาไทยว่า "รถถังประจัญบาน"  มาในยุคหลัง ๆ ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Girls und Panzer ก็ได้นำมาใช้ด้วย  ไม่ทราบว่าแฟน ๆ การ์ตูนญี่ปุ่นในเมืองไทยจะรู้จักแค่ไหน  ซึ่งเพลงนี้ในประวัติศาสตร์จริงก็เป็นเพลงประจำหน่วยรถถังของเยอรมันในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จริง ๆ  ซึ่งมีเนื้อเพลงทั้งหมด 5 ท่อน แต่ใช้ทำนองเดียวกันทั้งหมด  ในเรื่องรถถังประจัญบานนั้นนำแต่ท่อนแรกมาร้องวนเวียนไปมา  ความเป็นมาของเพลงโดยละเอียดดูได้ที่วิกิพีเดียตามลิงก์นี้ครับ https://en.wikipedia.org/wiki/Panzerlied 

ในส่วนของโน้ตนั้น ผมได้มาจากเว็บบอร์ดเมืองนอกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งที่เป็นคีย์ Bb ตามเสียงร้องจริงและที่เป็นคีย์ C ทั้งแบบที่เป็น Lead Sheet  และที่มีโน้ตมือซ้ายให้เสร็จสรรพ จึงได้ Save เก็บไว้ แต่มาตอนหลังหาเว็บบอร์ดต้นตอนั้นไม่เจอซะแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ  เลยไม่รู้จะไปให้เครดิตใครได้นอกจากสารภาพตามตรงว่าไม่ได้แกะเพลงหรือเรียบเรียงเอง  ส่วนคลิปตัวอย่างใน Youtube ทั้งที่มาจากภาพยนตร์และที่ประยุกต์เล่นกันอย่างพิศดารมีดังนี้ครับ





รูปแบบพื้นฐานการตีคอร์ดอูคูเลเล่ (Basic Ukulele Strumming Patterns) สำหรับเพลงอัตราจังหวะ 4/4

 

โดยส่วนตัวได้เริ่มหัดคีย์บอร์ดแบบ Arranger หรือที่บางท่านเรียกว่า "ซ้ายกดแช่" เมื่อปลายปี 2555 แล้วมาหัดเปียโนในราวปี 2557  จากนั้นราวปีสองปี ก็อดตามกระแสอูคูเลเล่บ้างไม่ได้ ก็ต้องเริ่มซื้อมาหัดกะเขาบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วยความคิดว่ามันมีแค่ 4 สาย น่าจะง่ายกว่ากีตาร์ที่มีถึง 6 สาย และอยากจะลองฟังเสียงคอร์ดของมันเทียบกับการตีคอร์ดของเปียโนและคีย์บอร์ดบ้าง  ไม่วายที่บางคนจะพูดในเชิงเสียดสีว่าจะทิ้งเปียโนแล้วหรือ  มาถึงวันนี้กลายเป็นยังถู ๆ ไถ ๆ เล่นเปียโนจนแทบจะทิ้งอูคูเลเล่ไปเลยด้วยซ้ำ  ในช่วงที่ยังพยายามหัดอูคูเลเล่อยู่บ้างนั้น ได้เคยลองพยายามสรุปว่าพื้นฐานการเล่นเบื้องต้นให้ได้ใน 1 หน้ากระดาษ A4  ก็ได้ดังที่โชว์อยู่ข้างบนนี่แหละครับ  หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง  และขอขยายความเพิ่มเติมจากที่ทำไว้อีกสักนิด ดังนี้ครับ

รูปแบบการสตรัมที่นำเสนอเป็นการสตรัมในเพลงที่มีอัตราจังหวะแบบ 4/4 ซึ่งเราจะนับจังหวะแต่ละห้องเพลง (bar) กันแบบ 1 และ 2 และ 3 แล ะ 4 และ  (1 & 2 & 3 & 4 &) โดยตัวเลขนั้นคือจำนวนบีตที่เป็นจังหวะตก คำว่าและที่ในเอกสารใช้สัญลักษณ์ & เป็นจังหวะยก 
  1. รูปแบบที่ 1 คือการดีดลงตลอด 4 ครั้งตามจังหวะตก  หรือ ลง-ลง-ลง-ลง ซึ่งตอนดีดลงครั้งแรกควรจะดีดแบบเน้น ๆ สักนิด  
  2. รูปแบบที่ 2 คือการดีดขึ้นลงสลับกันโดยดีดลงในจังหวะตกและดีดขึ้นในจังหวะยก หรือ ลงขึ้น-ลงขึ้น-ลงขึ้น-ลงขึ้น  
  3. รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมาก คือ ลง-ลงขึ้น-ขึ้น-ลง  
นอกจากนี้ ในรูปแบบที่ 1 เมื่อดีดลงอย่างเดียวจนคล่องยังสามารถประยุกต์โดยเพิ่มเติมการดีดขึ้นในจังหวะยกหลังบีตที่ 4 ที่จะเชื่อมต่อไปยังห้องต่อไปด้วย คือ ลง-ลง-ลง-ลงขึ้น หรือกรณีนำไปใช้ในเพลงอัตราจังหวะ 3/4 (จังหวะวอลซ์) ก็อาจจะดีดในแบบ ลง-ลง-ลง หรือ ลง-ลง-ลงขึ้น ก็ได้  

ส่วนในรูปแบบที่ 3 นั้น ตามรูปแบบเต็ม ๆ จะเป็น ลง-ลงขึ้น-ขึ้น-ลงขึ้น  คือมีการดีดขึ้นในจังหวะยกท้ายห้องเพื่อเชื่อมไปยังห้องถัดไป  แต่ครูคนไทยบางท่านเมื่อสอนมือใหม่จะกลัวลูกศิษย์จะเปลี่ยนคอร์ดในห้องถัดไปไม่ทัน เลยสอนแบบตัดการดีดขึ้นออกไปก่อน  แต่จากที่ผมดูคลิปของฝรั่งก็พบว่าเขาก็มีสอนทั้งสองแบบ  ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนเข้ากับจังหวะเพลงนั้น ๆ  ไม่ได้เกี่ยวกับความยากง่ายซะทีเดียวครับ

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเปียโน เพลง "Scotland the Brave"

 Scotland the Brave by Rojn Chintamas

แจกโน้ตเปียโนเพลงง่าย ๆ กันอีกสักเพลงครับ "Scotland the Brave" เพลงพื้นบ้านสกอตแลนด์ความยาวเพียง 16 ห้อง มีท่วงทำนองสง่างาม มือซ้ายส่วนใหญ่จะลงนิ้วคู่บ้าง นิ้วเดียวบ้าง มีห้องที่ 8 ที่ต้องไล่โน้ตกันนิดหน่อย  คลิปยูทูปข้างล่างผมทำจังหวะเร็วไปหน่อย ถ้าจะฝึกให้เล่นตามโน้ตจาก musescore ข้างบนแล้วปรับความเร็วให้พอเหมาะน่าจะดีกว่า

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเปียโน เพลง Polovitzian Dance by Alexander Borodin (Easy Version)

 Polovetzian Dance by Rojn Chintamas

มาดูโน้ตเปียโนเพลงคลาสสิคที่ง่าย ๆ กันอีกสักเพลง ต้นฉบับจริง ๆ อาจจะยากและยาวกว่านี้ แต่เขาเอามานำเสนอในคีย์ F Major ความยาวเพียง 16 ห้อง เพลงที่ชื่อว่า "Polovitzian Dance" (บางทีสะกดเป็น "Polovetsian Dance") ผลงานการประพันธ์ของคีตกวีรัสเซียนามว่า Alexander Borodin ที่คนไทยอาจจะรู้จักน้อยหน่อย ทั้งที่ชื่อเสียงในวงการของท่านก็รองจากไชคอฟสกี้ และบทเพลงนี้ซึ่งเป็นเพลงประกอบอุปรากรเรื่อง Prince Igor มีผู้นำมาใส่เนื้อภาษาอังกฤษในชื่อว่า "Stranger in Paradise" อีกด้วย เป็นอีกบทเพลงไพเราะที่มือเปียโนน่าจะฝึกไว้บ้าง แม้ว่าตัวผมเองจะยังไม่ได้ฝึกเล่นเลยนะ แหะ ๆ



วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเปียโน เพลงระบำอียิปต์ (Egyptian Dance from "Samson and Delilah" by Saint-Saen)

  Egyptian Dance by Rojn Chintamas

การเล่นเปียโนสำหรับมือใหม่ไม่ว่าเพลงแนวไหน ยาหม้อใหญ่ที่ต้องก้าวข้ามให้ได้คือการแบ่งประสาทระหว่างมือซ้ายกับมือขวา แต่สำหรับเพลงคลาสสิคเพลงนี้ Egyptian Dance from "Samson and Delilah" by Saint-Saen ที่ตลอดทั้งเพลงเล่นมือซ้ายแค่ 2 โน้ตคือ E กับ B นี้จะเหมาะกับมือใหม่หรือจะง่ายไปก็ไม่ทราบ ลองพิจารณาหัดเล่นกันดูนะครับ

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Lead Sheet เพลง "สาวสวนแตง" สุรพล สมบัติเจริญ

 สาวสวนแตง-LeadSheet by Rojn Chintamas

เพลงแทบไม่ต้องแนะนำอะไรมากสำหรับแฟนเพลงลูกทุ่งไม่ว่าจะเกิดทันครูสุรพลหรือไม่ก็ตาม  ส่วนตัวมีความกินใจกับวงการคีย์บอร์ดนิดหน่อยตรงที่ต้นฉบับเสียงครูสุรพลท่านเป็นเพลงในคีย์ G Major แต่ใน "โน้ตคีย์บอร์ดคอร์ดกีตาร์" ไหงกลับพิมพ์เผยแพร่เป็นโน้ตตัวเลขในคีย์ F Major ก็ไม่ทราบ   หลงเล่นผิดคีย์มาเป็นปี ๆ จนกระทั่งมาเจอภาพถ่ายของโน้ตในคีย์ G เข้า  จึงได้คัดลอกมาเพื่อฝึกใหม่และเผยแพร่กันตามนี้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเพลง "บ้านไร่นาเรา"

 บ้านไร่นาเรา by Rojn Chintamas

โน้ตเพลงคราวนี้ยังไม่ถือเป็น Lead Sheet อย่างคราวก่อน ๆ  คือไม่ได้ระบุคอร์ดไว้ด้วย เป็นเพลงเก่ามาก ๆ ชื่อ "บ้านไร่นาเรา" ทำนอง พระเจนดุริยางค์ คำร้องโดย ขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญจนพันธ์ ที่มา http://rtafband.com/_admin/photo/SiamPhoto0000055.jpg และหนังสือศิลปวัฒนธรรมฉบับเก่า  ประวัติความเป็นมาของเพลงนี้ ไม่ทราบเหมือนกันครับ 555 ถ้าตอบให้ฟังดูดีอีกหน่อยคือโอกาสหน้าจะค้นคว้ามารายงานให้ทราบเพิ่มเติมครับ  ระหว่างนี้ลองฟังต้นฉบับใน Youtube จากแผ่นครั่งที่ขับร้องโดย เฉลิมขวัญ โหมดประดิษฐ์ และ สุวรรณ พลอยประดิษฐ์ ครับ

Lead Sheet เพลง "จำเลยรัก" (สวลี ผกาพันธุ์)

 จำเลยรัก by Rojn Chintamas

 โน้ตเพลงแบบ Lead Sheet เพลง "จำเลยรัก" ทำนองโดย ครูสมาน กาญจนผลิน คำร้องโดยครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นอีกเพลงเอกประจำตัวของสวลี ผกาพันธุ์ และเป็นเพลงที่สาว ๆ ในรุ่นที่เกิดทันเหมือนจะมีความในใจอะไรบางอย่างกับเพลงนี้ ต้นฉบับเพลงนี้อยู่ในคีย์ D Minor ซึ่งเป็น Relative กับคีย์ F Major แต่มีผู้รู้ให้ข้อสังเกตว่าในท่อนฮุกเพลงนี้กลับมีลักษณะไปในทางคีย์ D Major ซึ่งเพลงในรุ่นนั้นหลายเพลงมีลักษณะทำนองเดียวกัน คือ ในท่อนปกติอยู่ในคีย์หนึ่ง แต่ท่อนฮุกคล้ายจะย้ายคีย์ชั่วคราว อะไรประมาณนี้ครับ

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Lead Sheet เพลง "คำมั่นสัญญา"

 คำมั่นสัญญา by Rojn Chintamas

เลยวันสุนทรภู่มา 1 สัปดาห์แล้ว แต่วันนี้อยากแจกเพลงที่มาจากผลงานของท่าน  เพลง "คำมั่นสัญญา" เนื้อเพลงจากวรรณคดีไทย "พระอภัยมณี" ของ สุนทรภู่ คำพูดของพระอภัยมณีพูดกับนางละเวงวัลลา ใส่ทำนองโดยครูสุรพล แสงเอก  เป็นเพลงที่น่าจะทำให้ใครหลาย ๆ คนรักภาษาและวรรณคดีไทยมากขึ้น แต่สมัยนี้ยังสอนกันอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ


วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Lead Sheet เพลง "วานลมจูบ" ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์

 

 วานลมจูบ by Rojn Chintamas

https://musescore.com/user/28959067/scores/5769957

 ขอทดลองแชร์โน้ตเพลงแบบ Lead Sheet ที่เคยทำไว้ใน musescore.com มาใส่ในบทความที่นี่ดูบ้าง เพลง "วานลมจูบ" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สง่า อารัมภีร ขับร้องโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ไม่ได้เก่งกาจขนาดแกะเพลงเขียนโน้ตได้เองนะครับ มีเครดิตระบุไว้ตอนท้ายโน้ตแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฝึกคีย์บอร์ดเพลง "น้ำลงเดือนยี่" ด้วย Roland E-09W จังหวะลูกทุ่ง

 


 ลองสำรวจดูคลิปการเล่นคีย์บอร์ดที่เคยอัดลง Youtube เล่น ๆ พบว่าเพลงนี้เรตติ้งน้อยมาก  ลงมา 3 ปีกว่า แล้วยังมียอดวิวแค่ 61 ครั้ง ทั้งที่คลิปอื่นถึงหลักร้อยไปแล้ว บางเพลงถึงพันยังมี เลยลองเอามาแชร์ที่นี่เล่น ๆ ด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะเพิ่มยอดวิวได้บ้าง 😄

เพลงน้ำลงเดือนยี่ จังหวะลูกทุ่ง บรรเลงเดี่ยวด้วย Roland E-09W จังหวะลูกทุ่ง Credit: ครูไพบูลย์ บุตรขัน ประพันธ์คำร้องและทำนอง ต้นฉบับเสียงร้องโดย รุ่งเพชรแหลมสิงห์

Einzugsmarsch from Johann Strauss, Jr.

 วันนี้ หลังจาก Facebook ฟื้นจากอาการเดี้ยงมาได้สักพักใหญ่ ๆ ก็ออกโรงเตือนข้าพเจ้าว่า วันนี้เมื่อปี 2009 หรือ พ.ศ. 2552 เคยนำเพลงนี้มาลงไว้ใ...