โดยส่วนตัวได้เริ่มหัดคีย์บอร์ดแบบ Arranger หรือที่บางท่านเรียกว่า "ซ้ายกดแช่" เมื่อปลายปี 2555 แล้วมาหัดเปียโนในราวปี 2557 จากนั้นราวปีสองปี ก็อดตามกระแสอูคูเลเล่บ้างไม่ได้ ก็ต้องเริ่มซื้อมาหัดกะเขาบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วยความคิดว่ามันมีแค่ 4 สาย น่าจะง่ายกว่ากีตาร์ที่มีถึง 6 สาย และอยากจะลองฟังเสียงคอร์ดของมันเทียบกับการตีคอร์ดของเปียโนและคีย์บอร์ดบ้าง ไม่วายที่บางคนจะพูดในเชิงเสียดสีว่าจะทิ้งเปียโนแล้วหรือ มาถึงวันนี้กลายเป็นยังถู ๆ ไถ ๆ เล่นเปียโนจนแทบจะทิ้งอูคูเลเล่ไปเลยด้วยซ้ำ ในช่วงที่ยังพยายามหัดอูคูเลเล่อยู่บ้างนั้น ได้เคยลองพยายามสรุปว่าพื้นฐานการเล่นเบื้องต้นให้ได้ใน 1 หน้ากระดาษ A4 ก็ได้ดังที่โชว์อยู่ข้างบนนี่แหละครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง และขอขยายความเพิ่มเติมจากที่ทำไว้อีกสักนิด ดังนี้ครับ
รูปแบบการสตรัมที่นำเสนอเป็นการสตรัมในเพลงที่มีอัตราจังหวะแบบ 4/4 ซึ่งเราจะนับจังหวะแต่ละห้องเพลง (bar) กันแบบ 1 และ 2 และ 3 แล ะ 4 และ (1 & 2 & 3 & 4 &) โดยตัวเลขนั้นคือจำนวนบีตที่เป็นจังหวะตก คำว่าและที่ในเอกสารใช้สัญลักษณ์ & เป็นจังหวะยก
- รูปแบบที่ 1 คือการดีดลงตลอด 4 ครั้งตามจังหวะตก หรือ ลง-ลง-ลง-ลง ซึ่งตอนดีดลงครั้งแรกควรจะดีดแบบเน้น ๆ สักนิด
- รูปแบบที่ 2 คือการดีดขึ้นลงสลับกันโดยดีดลงในจังหวะตกและดีดขึ้นในจังหวะยก หรือ ลงขึ้น-ลงขึ้น-ลงขึ้น-ลงขึ้น
- รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมาก คือ ลง-ลงขึ้น-ขึ้น-ลง
นอกจากนี้ ในรูปแบบที่ 1 เมื่อดีดลงอย่างเดียวจนคล่องยังสามารถประยุกต์โดยเพิ่มเติมการดีดขึ้นในจังหวะยกหลังบีตที่ 4 ที่จะเชื่อมต่อไปยังห้องต่อไปด้วย คือ ลง-ลง-ลง-ลงขึ้น หรือกรณีนำไปใช้ในเพลงอัตราจังหวะ 3/4 (จังหวะวอลซ์) ก็อาจจะดีดในแบบ ลง-ลง-ลง หรือ ลง-ลง-ลงขึ้น ก็ได้
ส่วนในรูปแบบที่ 3 นั้น ตามรูปแบบเต็ม ๆ จะเป็น ลง-ลงขึ้น-ขึ้น-ลงขึ้น คือมีการดีดขึ้นในจังหวะยกท้ายห้องเพื่อเชื่อมไปยังห้องถัดไป แต่ครูคนไทยบางท่านเมื่อสอนมือใหม่จะกลัวลูกศิษย์จะเปลี่ยนคอร์ดในห้องถัดไปไม่ทัน เลยสอนแบบตัดการดีดขึ้นออกไปก่อน แต่จากที่ผมดูคลิปของฝรั่งก็พบว่าเขาก็มีสอนทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนเข้ากับจังหวะเพลงนั้น ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับความยากง่ายซะทีเดียวครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น