วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Einzugsmarsch from Johann Strauss, Jr.

 วันนี้ หลังจาก Facebook ฟื้นจากอาการเดี้ยงมาได้สักพักใหญ่ ๆ ก็ออกโรงเตือนข้าพเจ้าว่า วันนี้เมื่อปี 2009 หรือ พ.ศ. 2552 เคยนำเพลงนี้มาลงไว้ในฟีด Einzugsmarsch from Johann Strauss, Jr. ก็ขอถือโอกาสนี้นำคลิปมาลงทบทวนความจำกันอีกทีครับ  เป็นเพลงคลาสสิคสั้น ๆ ฟังง่าย ๆ สนุก ๆ  บรรเลงโดยวง Vienna Philharmonic Orchestra ซึ่งมี Zubin Mehta เป็นวาทยากร แสดงที่ Heldenplatz กรุงเวียนนา ไม่ทราบวันเวลาครับ

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

The Moon Represents My Heart - Teresa Teng // Cover by Vikki (ผู้หมวดไวกิ้ง)

จะว่าเป็นความดราม่าของสื่อไทยทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล หรือจะเป็นเพราะดวง หรืออะไรก็แล้วแต่  ในท่ามกลางกระแสข่าวคดีร้ายแรงที่อดีตผู้กำกับหนุ่มทารุณกรรมผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตาย จู่ ๆ การนำเสนอก็พลิกมาเสนอเรื่องของ ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ หรือ หมวดไวกิ้ง  เรื่องราวของเธอโดยละเอียดหาอ่านกันได้ตามสื่อทั่วไป เช่น เดลินิวส์ https://www.dailynews.co.th/news/205013/ ฯลฯ  ในส่วนของผมคงไม่อยากวิจารณ์อะไรมาก เพราะอายุก็คงรุ่นราวคราวพ่อเธอ และยังไงเธอก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โพสต์อะไรยาว ๆ ไม่ระวังก็อาจโดนคดีได้ 😁 ก็นำเสนอแค่ความสามารถทางดนตรีของเธอมาเป็นตัวอย่างกันสักคลิปตาม Concept ของ Blog เพลง The Moon Represents My Heart - Teresa Teng ที่เธอโชว์ความสามารถในการเล่น Cover ทั้งเล่นกีตาร์และร้องเป็นภาษาจีนครับ


วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เพลงประกอบซีรีส์ "พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก"

 แม้จะเป็นสมาชิกทรูวิชั่นและมีกล่องทรูไอดีมาระยะหนึ่งแล้ว  ด้วยความไม่รู้ ตอนแรก ๆ ก็ดูแต่ Live TV ไม่กล้าดูหนังอะไรเลย  เพราะนึกว่าจะมีแต่หนังที่ต้องเสียตังค์  พอต้อง Work from Home นาน ๆ เข้าหาข้อมูลเรื่อยเปื่อยไปจนทราบว่ามีหนังส่วนหนึ่งที่เขาอุตส่าห์ซื้อลิขสิทธิ์มาให้เราดูได้ฟรีอยู่บ้างเหมือนกัน  แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยจะชอบหนังละครดรามาอะไรนัก เลยได้มาเริ่มกับอะไรที่ธรรมะธรรโมไว้อย่างซีรีส์เรื่อง "พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก" นอกจากติดใจเนื้อเรื่องแล้วยังติดใจเพลงประกอบที่ไพเราะอีกต่างหาก  แต่พอจะหาคลิปใน Youtube ก็พบว่าเพลงประกอบซีรีส์นี้มี 2 เพลงด้วยกัน เพลงแรก เป็นเพลงของค่ายเวิร์กพอยต์  กับเพลงที่ 2 ที่ผมได้ฟังจากค่ายทรู คือ เพลง "มหาบุรุษ" ก็ขอนำมาเผยแพร่ทั้งสองเพลงเลยแล้วกันครับ




ข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ชุดนี้จากวิกิพีเดีย  https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธเจ้า_มหาศาสดาโลก

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

4 บทเพลงวันแม่แห่งชาติ

วันหยุดวันแม่แห่งชาติทั้งที ขออัพเดทบล็อกด้วยคลิปบทเพลงที่เกี่ยวกับวันแม่ รวม 4 บทเพลงด้วยกัน  โดย 2 เพลงแรกเป็นเพลงที่ใช้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะ  อีก 2 เพลงเป็นเพลงที่เทอดทูนแม่โดยทั่ว ๆ ไป 

  1. เพลง "สดุดีพระแม่เจ้า" คำร้อง/ทำนอง ทวี มาศมัณทนะ ท่านที่มีอายุสักหน่อยคงได้ยินเพลงนี้มานานจนคุ้นหู  แต่ผมยังไม่สามารถค้นหาประวัติความเป็นมาโดยละเอียดได้ 




  2. เพลง "สดุดีพระแม่ไทย" ทำนอง: วิรัช อยู่ถาวร คำร้อง: ชัยวัตน์ วงศ์เกียรติขจร เป็นเพลงที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ในงานวันแม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา




  3. เพลง "ค่าน้ำนม" แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน โดยมีการขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด ในที่นี้ขอนำเสนอเป็นคลิปบรรเลงไวโอลินโดยครูปุย Vietrio (พินทุสร ศรีณรงค์) ข้อมูลเพลงเพิ่มเติม ดูที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ค่าน้ำนม




  4. เพลง "อิ่มอุ่น" ประพันธ์โดย ศุ บุญเลี้ยง เริ่มเผยแพร่เมื่อปี 2534 แน่นอนว่าเป็นเพลงที่สร้างชื่อให้ผู้ประพันธ์ไม่น้อยเช่นกัน ในที่นี้ขอนำเสนอคลิปบรรเลงเปียโน โดย ครูเบลล์ ข้อมูลเพลงเพิ่มเติม ดูที่ https://th.wikipedia.org/wiki/อิ่มอุ่น


วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เพลงประกอบภาพยนตตร์ "กระบี่เย้ยยุทธจักร" (เดชคัมภีร์เทวดา) : เทียบโน้ตตัวเลข VS โน้ตสากล

เย้ยยุทธจักร by Rojn Chintamas

เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผมได้เริ่มการฝึกดนตรีที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกด้วยการซื้อคีย์บอร์ดถูก ๆ ตัวหนึ่งที่มีสติ๊กเกอร์โน้ตตัวเลขติดมาเรียบร้อย พร้อมด้วยหนังสือโน้ตเพลงตัวเลขมาอีก 2 เล่ม   จากนั้นผมก็ค่อย ๆ หัดเล่นเพลงไปทีละเพลงสองเพลง  อะไร ๆ เหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี  ค่อย ๆ เล่นเพลงได้มากขึ้น  มีคีย์บอร์ดที่ดีขึ้นทั้งที่ซื้อจากร้านเดิมและที่แสวงหาซื้อเอง  แต่ความที่เป็นนักค้นคว้าอยู่พอตัว  แทนที่จะเรียนจากอาจารย์ซึ่งก็คือผู้ขายคีย์บอร์ดตัวแรกแต่เพียงอย่างเดียว  ก็พยายามค้นคว้าหาความรู้ทั้งจากการหาหนังสืออ่านและบทความจากอินเทอร์เน็ตบ้าง เล่นเทียบกับต้นฉบับบ้าง

ผลคือเริ่มจะเจอปัญหามากขึ้น  โดยเฉพาะเรื่องของโน้ตเพลงที่ไม่ตรงคีย์ต้นฉบับ  หรือเรื่องของโน้ตตัวเลขที่ไม่บอกความสั้นยาวของแต่ละเสียงตัวโน้ต  ตอนหลังไปหัดเปียโนแบบที่ไม่ได้ใช้โน้ตแล้ว  คราวนี้ต้องขอบคุณหนังสือปรัชญาเซ็นที่เคยอ่านตอนอายุน้อย ๆ ที่ทำให้เราไม่ทำตัวเป็นชาล้นถ้วย  จึงได้เทน้ำชาโน้ตตัวเลขออกเท่าที่จะเทได้เพื่อจะได้รับความรู้ใหม่จากการเล่นเปียโน  ที่จริงจะว่าเททิ้งก็ไม่ถูก  เรียกว่าเก็บความรู้ความเคยชินกับโน้ตตัวเลขเข้าลิ้นชักไปก่อนจะดีกว่า

อันที่จริงโน้ตตัวเลขแบบที่ใช้กันในเมืองไทยตามสไตล์ "โน้ตคีย์บอร์ดคอร์ดกีตาร์" นั้น  มันมีที่มาจากโน้ตดนตรีจีนแบบที่เรียกว่า "โน้ตเจียนปู" (https://en.wikipedia.org/wiki/Numbered_musical_notation) อีกที  ซึ่งวิธีการของเขาเป็นแบบที่ทางทฤษฎีดนตรีเรียกว่า move DO และมีเส้นกั้นห้องเพลงและสัญลักษณ์อื่นๆ ของสากลที่ช่วยเราได้เยอะ  ต่างจาก"โน้ตคีย์บอร์ดคอร์ดกีตาร์" ของไทย  ที่เป็น fixed do ต้องเคยฟังเพลงนั้น ๆ ถึงจะเล่นได้ หลายเพลงเป็นคนละคีย์กับต้นฉบับ  และเรื่องจะแปลงเป็นโน้ตสากลอย่างนี้น่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

เรียกว่าต้นฉบับโน้ตตัวเลขแบบเจียนปูเขามีรายละเอียดที่หวังจะทดแทนการใช้โน้ตสากล  แต่พี่ไทยเราหยิบบางส่วนใช้เพื่อหวังความสะดวกว่าจะให้มือคีย์บอร์ดกับมือกีตาร์เล่นด้วยกันได้  แต่จะได้ผลตามนั้นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

ครั้งหนึ่ง ด้วยความบังเอิญอะไรไม่ทราบ ได้ไปพบโน้ตเพลงแบบเจียนปูของเพลงประกอบซีรีส์และภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่องที่มีชื่อว่า "กระบี่เย้ยยุทธจักร" หรือบางเวอร์ชันใช้ชื่อว่า "เดชคัมภีร์เทวดา"  โน้ตเพลงดังกล่าวระบุว่าเป็นเพลงในอัตราจังหวะ 2/4 คีย์ F Major  ซึ่งโน้ตตัวเลข 1-7 ในที่นี้จึงไม่ใช่ C-D-E-F-G-A-B แต่เป็น F-G-A-Bb-C-D-E  เมื่อรู้ดังนี้จึงได้ลองเอาโน้ตเจียนปูดังกล่าวมาลองแปลงเป็นโน้ตสากลดังที่เห็นอยู่ข้างบน  ส่วนคลิปข้างล่างเป็นตัวอย่างเพลงต้นฉบับจากภาพยนตร์ในเวอร์ชันหนึ่ง  

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Je t'aime... moi non plus เพลงรักต้องห้าม?

บางครั้ง เราอาจพบว่าจู่ ๆ ก็มีทำนองเพลงอะไรบางอย่างโผล่ขึ้นมาในความทรงจำ หรือได้ยินได้ฟังทำนองเพลงอะไรสักเพลง แต่นึกไม่ออกว่าเป็นเพลงอะไร เคยฟังที่ไหน  เพลงหนึ่งที่เข้ามาวนเวียนอยู่ในสมองผมหลังจากฝึกเล่นเปียโนได้ระยะหนึ่ง  แต่นึกไม่ออกว่าเพลงชื่ออะไร ได้ฟังที่ไหน คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นทำนองเพลงโฆษณาสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่ง  จะหาข้อมูลหรือถามใครก็ไม่รู้จะเริ่นต้นยังไง  จนกระทั่งเมื่อคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 จึงได้ทราบคำตอบจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง

เพลงนั้นชื่อว่า Je t'aime... moi non plus ซึ่งมีความเป็นมาปรากฏตามลิ้งค์ภาษาอังกฤษและไทยดังนี้
ที่ว่าเป็น "เพลงรักต้องห้าม" นั้นด้วยเหตุตามที่ระบุในบทความวิกิพีเดียภาษาไทยว่า "แต่เพลงนี้ถูกห้ามเปิดออกอากาศในหลายประเทศ ทั้งในสเปน สวีเดน บราซิล อังกฤษ โปรตุเกส อิตาลี ห้ามออกอากาศในฝรั่งเศสก่อนเวลา 23.00 น. และถูกจำกัดการออกอากาศในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในเพลงมีท่อนหนึ่งเป็นเสียงครางของนักร้องหญิง ขณะถึงจุดสุดยอด"  แต่หากสนใจแต่ทำนองเพลงโดยไม่สนใจประเด็นทางเพศแล้ว  เพลงนี้เป็นเพลงในคีย์ C อัตราจังหวะ 4/4 ที่ทำนองจริงยาวเพียง 16 ห้อง เล่นวนไปวนมา  ต้นฉบับหนึ่งที่พบใน Youtube คือคลิปนี้ครับ


ส่วนโน้ตเพลงที่พอหาได้ เป็นแบบ Lead Sheet จาก http://ekladata.com/rQDPJPmTLvdJAgTCfKW1wn3TMVc/Je-t-aime.pdf  ดังนี้ครับ



วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โน้ตเพลงแบบ Lead Sheet เพลง "สดุดีจอมราชา"

สดุดีจอมราชา by Rojn Chintamas

วันนี้ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติคงจะมีพิธีการต่าง ๆ ที่ท้องสนามหลวง และเพลง "สดุดีจอมราชา" คงดังกระหึ่มไปทั่ว มาในวันนี้ปีนี้เราคงได้แต่น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้บ้างตามสมควร ทรงพระเจริญ!

Einzugsmarsch from Johann Strauss, Jr.

 วันนี้ หลังจาก Facebook ฟื้นจากอาการเดี้ยงมาได้สักพักใหญ่ ๆ ก็ออกโรงเตือนข้าพเจ้าว่า วันนี้เมื่อปี 2009 หรือ พ.ศ. 2552 เคยนำเพลงนี้มาลงไว้ใ...